ยินดีต้อนรับสู่ Blogspot ครูกนกออน โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ หมวดศิลปะ

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

การละเล่นพื้นเมือง

ความหมายของคำว่า "การละเล่นพื้นเมือง" "การละเล่น" เป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยบางท่านกล่าวว่าเป็นการปรับเสียงคำว่า "การเล่น" ให้ออกเสียงง่ายขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรให้ความหมายกว้างออกไปถึงการเล่นเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจหลังประกอบกิจประจำ และการเล่นในเทศกาลท้องถิ่นหรือในงานมงคลบ้าง เช่น เพลงพื้นเมือง ละคร ลิเก ลำตัด หุ่น หนังใหญ่ ฯลฯ การละเล่นพื้นเมือง หมายถึง การแสดงแต่ละอย่างอันเป็นประเพณีนิยมกันในท้องถิ่น ซึ่งเล่นกันในระหว่างประชาชน เพื่อให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริงตามฤดกาล การแสดงจะต้องเป็นไปอย่างมีวัฒนธรรม มีความเรียบร้อย ต้องใช้ถ้อยคำสุภาพไม่หยาบโลนหรือเสื่อมเสียศีลธรรม แต่งกายให้สุภาพถูกต้องตามความนิยม และวัฒนธรรม เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น ตลอดจนสถานที่ก็ต้องจัดให้เหมาะสมกับโอกาสที่จะแสดง เนื่องจากการละเล่นพื้นเมืองจัดเป็นส่วนหนึ่งของนาฏศิลปไทย อ.สุมิตร เทพวงษ์ ได้แบ่งการละเล่นพื้นเมืองออกเป็น 2 ลักษณะ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์เพื่อความเข้าใจ และเหมาะสมในการศึกษาค้นคว้า ดังนี้


การละเล่นพื้นเมืองในรูปแบบของ "เพลงพื้นเมือง" หรือ "เพลงพื้นบ้าน" (Folk Songs)
การละเล่นพื้นเมืองในรูปของ "การแสดงพื้นเมือง" (Folk Dances)
เพลงพื้นเมือง เพลงพื้นเมืองในประเทศไทยมีมาแต่โบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่ามีขึ้นในสมัยใด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยจองคนในสังคม จึงมีผู้เรียกว่า "เพลงพื้นบ้าน" เป็นเพลงนอกศตวรรษ เป็นเพลงนอกทำเนียบบ้าง เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี และความรู้ทุกแขนงในประเทศไทยที่เรามักจะอ้างสิ้นสุด แต่ศิลาจารึกก็มีความรู้ทุกแขนง ยกเว้นแต่เพลงพื้นเมืองมีกล่าวถึงการละเล่นเพียงเล็กน้อย
หลักฐานเกี่ยวกับการเล่นเพลงพื้นเมืองมีปรากฎในสมัยอยุธยา ชื่อที่พบ คือ เพลงเรือ เพลงเทพทอง ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ มีชื่อเพลงพื้นเมืองปรากฎอย่ในจารึกวัดโพธิ์ และในวรรณคดีต่างๆสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ปรากฎชื่อ คือ เพลงปรบไก่ เพลงเรือ เพลงสักวา แอ่วลาว ไก่ป่า เกี่ยวข้าว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่ามีการเล่นเพลงเรือ สักวา ในเทศกาลทอดกฐิน มีเพลงฉ่อย ลิเก ลำตัด และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมานั้น มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงพื้นเมืองไว้ให้อ่าน และใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเป็นจำนวนมาก
ส่วนในเรื่องการเกิดเพลงพื้นเมืองนั้น ได้มีผู้ให้ความคิดเห็นในทัศนะต่างๆกัน เช่นกล่าวว่า เกิดเพราะความไม่สะดวกในเรื่องการคมนาคม มหรสพเพื่อความบันเทิงอื่นๆไม่มี ต่างคนต่างทำมาหากินไม่ค่อยมีโอกาสจะพบกัน เมื่อมีเวลา และโอกาสจึงหาสิ่งบันเทิงใจเกิดขึ้นหรือเกิดจากสภาพสังคมที่ยังมีความต้องการแสวงหาความบันเทิงใจ เรื่องของความเชื่อที่ชาวบ้านจะต้องปฏิบัติให้ถูกกับสิ่งที่คนในสังคมยึดเหนี่ยว เหื่อเป็นขวัญ และกำลังใจตลอดถึงเรื่องความศรัทธาในพระพุทธศาสนาซึ่งมีผลให้เผยแพร่ออกไป
เพลงพื้นเมืองมีลักษณะดังนี้
มีความเรียบง่ายของการใช้คำ สำนวน โวหาร ไม่มีศัพท์แสลงมากนัก อาจจะมีนัยแฝงอยู่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในสังคมท้องถิ่น ถ้าผู้ฟังมีประสบการณ์ร่วมก็จะเข้าใจได้ทันทีความตลกขบขัน การว่ากระทบกระเทียบ เสียดสีสังคมท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ มีให้พบเห็นอยู่โดยทั่วไปในเพลงพื้นเมืองทุกประเภท
การสอดแทรกวิถีชีวิตชาวบ้าน นับแต่ความเชื่อเรื่องประเพณี ค่านิยม และภาษาถิ่น มีอยู่เป็นอย่างมากในเพลงพื้นเมือง
ฉันทลักษณ์ไม่แน่นอน อาจจะสั้นตั้งแต่ 1 คำ ร้องซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่ง 17 - 18 คำก็มี ลักษณะคล้องจองกันอยู่ในตัว แต่ก็ไม่ใช่ตามฉันทลักษณ์ของกลอนหรือบทประพันธ์ชนิดใด
การร้องเล่นไม่ต้องการอุปกรณ์ประกอบมากมาย อาจจะใช้จังหวะตบมือ ใช้ฉิ่ง กรับ โทน ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ การแต่งกายก็แต่งกายแบบพื้นบ้านที่เป็นอยู่ อาจจะเพิ่มการทาแป้งทาปากเข้าไปบ้างเพื่อความสวยงาม
การตัดเติมเสริมความมีให้พบเห็นอยู่ทั่วไป เพราะบางทีเป็นการร้องโต้ตอบ (ปฏิพากย์) ระหว่างผู้เล่น 2 ฝ่าย ซึ่งต้องใช้ไหวพริบ (ปฏิภาณ) เพื่อความรวดเร็วไม่ให้การเล่นหยุดชะงัก จึงอาจตัดความหรือเสริมความเข้าใจเข้าไปเพื่อให้พอดีกับจังหวะ เวลา และโอกาส
การใช้สำนวนสำเร็จรูป หรือสำนวนสูตรสำเร็จ นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วไป เช่น ขึ้นต้นอย่างนี้ จะต้องต่ออย่างนี้ แล้วต้องลงอย่างนี้ เช่น ขึ้นว่า "จะว่าอะไรอย่าให้ผิด" จะต้องว่า "เหมือนกับริดตาไม้" หรือ "ขอให้ขึ้นคล่องลงคล่อง" ก็จะต่อว่า "อย่างกับช่องน้ำไหล"
ไม่ทราบที่มาแน่นอนว่ามาจากใคร ที่ไหน เมื่อไร ดังนั้นเมื่อถามถึงที่มาจะบอกว่ามาจากครูพักลักจำ คือ จำสืบกันมา เวลาไหว้ครูจึงต้อง "ไหว้ครูพักลักจำ" ด้วย
การละเล่น พื้นเมือง การละเล่นพื้นเมืองมีลักษณะแตกต่างกับเพลงพื้นเมืองตรงที่เน้นลักษณะ และลีลาการรำมากขึ้นกว่าการเล่นเพลง ความหมายของการใช้ท่าทางจะมีมากกว่า การแต่งกายของผู้แสดงจะดูพิถีพิถันต้องการความสวยงาม เพื่อให้การฟ้อนรำนั้นดูงดงาม และเป็นเอกลักษณ์ในการแสดงแต่ละชุด
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการละเล่นพื้นเมือง การละเล่นพื้นเมืองของไทยแบ่งออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน แต่ละภาคจะมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างกันออกไปทั้งรูปแบบของเพลงพื้นเมือง และการแสดงพื้นเมือง สิ่งเหล่านี้เกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
ปัจจัยสภาพทางภูมิศษสตร์ มีอิทธิพลต่อการสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละภาค เนื่องจากในสมัยอดีตการคมนาคมติดต่อกับส่วนกลางยากลำบาก ในภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลจึงมักจะรับวัฒนธรรมจากประเทศใกล้เคียงเข้ามาในสังคมนั้น
ประเพณี คำว่า "ประเพณี" มาจากศัพท์บาลีสันสกฤตว่า "ปเวณิ ; ปรเวริ" ได้แก่ ขนบธรรมเนียมหรือแบบแผน คนเราไม่ว่าชาติไหน ภาษาใด ย่อมต้องมีประเพณีเป็นของตนเอง คนในชาติจ้องเคารพนับถือ ถ้าไม่เคารพนับถือจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่มีชาติ ในเรื่องประเพณีของประชาชนทุกภูมิภาค ส่วนมากจะมีขึ้นในลักษณะท่คล้ายคลึงกันบ้าง และแตกต่างกันบ้างในบางประเพณี
ศาสนา เป็นสิ่งสำคัญมากมากสิ่งหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการละเล่นพื้นเมืองแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่นหรือในแต่ละภูมิภาค สำหรับประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเป็นประชาธิปไตยในเรื่องการนับถือศาสนา ทำให้ประชาชนมีอกาสในการเลือกนับถือศาสนาที่ตนเองชอบได้อย่างอิสระ ผลของการนับถือศาสนานั้นมักมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่อ อันเป็นผลให้เกิดการละเล่นพื้นเมืองแตกต่างกันไป
ความเชื่อ เป็นเรื่องที่มีความผูกพันในวิถีชีวิตของคนไทยมานาน ความเชื่อมีผลทำให้เกิดรูปแบบของประเพณีต่างๆ อันเป็นผลต่อการละเล่นพื้นเมืองอย่างยิ่งในแต่ละท้องถิ่น โดยแต่ละท้องที่ก็จะแตกต่างกันออกไป
ค่านิยม เรื่องของค่านิยมเป็นสิ่งสำคัญขั้นมูลฐานในการทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมบุคคล เพราะพฤติกรรมหรือการแสดงออกต่างๆของบุคคล ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะค่านิยมที่ผู้นั้นมีอยู่ ค่านิยมที่เรามักพบในแต่ละท้องถิ่นแต่ละภาคจะมีลักษณะดังนี้
ค่านิยมเกี่ยวกับการศึกษา
ค่านิยมเกี่ยวกับความมั่นคง
ค่านิยมเกี่ยวกับการทำบุญ
ค่านิยมเกี่ยวกับความสนุกสนาน
ค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ค่านิยมเกี่ยวกับการรักถิ่นฐานหรือรักญาติพี่น้อง
ค่านิยมเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณ
ลักษณะการละเล่นพื้นเมืองของแต่ละภาค
ภาคกลาง การละเล่นพื้นเมืองส่วนมากจะออกมาในรูปแบบของเพลงพื้นเมือง ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
เพลงที่นิยมเล่นในน้ำ ได้แก่ เพลงเรือ เพลงหน้าใย เพลงครึ่งท่อน และเพลงร่อยพรรษา ฯลฯ
เพลงที่นิยมเล่นในหน้าเกี่ยวข้าว นวดข้าว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงโอก เพลงพานฟาง เพลงสงคอลำพวน และเพลงชักกระดาน ฯลฯ
เพลงที่นิยมเล่นในหน้าสงกรานต์ และใกล้เคียง ได้แก่ เพลงพิษฐาน เพลงพวงมาลัย เพลงสงกรานต์ (ตั้งขึ้นพิเศษ) เพลงยั่ว เพลงระบำบ้านไร่ เพลงช้าเจ้าหงส์ เพลงเหย่ย เพลงคล้องช้าง เพลงช้าเจ้าโลม เพลงฮินเลเล เพลงกรุ่น เพลงชักเย่อ เพลงเข้าผี เพลงแห่นางแมว เพลงใจหวัง และเพลงบวชนาค ฯลฯ
เพลงที่นิยมร้องทั่วไปไม่จำกัดเทศกาล ได้แก่ เพลงเทพทอง เพลงปรบไก่ เพลงไก่ป่า เพลงพาดควาย เพลงขอทาน เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง ลำตัด เพลงระบำบ้านนา เพลงแอ่วเคล้วซอ และเพลงอีแซว ฯลฯ ส่วนการละเล่นพื้นเมืองในรูปแบบของการแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง ได้แก่ รำโทน รำเถิดเทิง รำวง และระบำต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในแต่ละสถานที่ ภาคเหนือ การละเล่นพื้นเมืองของภาคเหนือในรูปแบบของเพลงพื้นเมืองนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
บทขับขานของพระภิกษุในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา (ซึ่งผสมผสานกับพราหมณ์ และผี) เช่น เทศน์ อื่อลำนำ ใส่กาพย์ สวด ทั้ง 4 อย่างนี้ถือเป็นบทเพลงที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้ในพิธีกรรมโดยตรง มิได้นำมาขับร้องกันเล่นๆ
บทขับร้องของประชาชนชาวบ้านทั่วไป เช่น ค่ำ (ช่ำ) จ๊อย (ช้อย)
การละเล่นพื้นเมืองของภาคเหนือในรูปแบบของการแสดงพื้นเมือง ซึ่งมักเกี่ยวกับการฟ้อนหรือการร่ายรำนั้น แบ่ง 5 ประเภทคือ
ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจาการนับถือผี เป็นการฟ้อนที่เกี่ยวกับความเชื่อ และพิธีกรรม นับเป็นการฟ้อนที่เก่าแก่มาช้านาน ได้แก่ ฟ้อนผีมดผีเม็ง ฟ้อนผีบ้านผีเมือง ฯลฯ
ฟ้อนแบบเมือง เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีลีลาแสดงลักษณะเป็นแบบฉบับของคนเมืองหรือ "ชาวไทยยวน" (ซึ่งเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่เป็นปึกแผ่นในแว่นแคว้นที่เรียกว่า "ลานนา") ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเจิง ตบมะผาบ ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดชัย และฟ้อนสาวไหม ฯลฯ
ฟ้อนแบบม่าน คำว่า "ม่าน" ในภาษาลานนาหมายถึง "พม่า" การฟ้อนประเภทนี้เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการฟ้อนของพม่ากับของไทยลานนา ได้แก่ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฯลฯ
ฟ้อนแบบเงี้ยวหรือแบบไทยใหย่ เป็นการฟ้อนตลอดจนการแสดงที่ได้รับอิทธิพลหรือต้นเค้ามาจากศิลปการแสดงของชาวไทยใหญ่ ได้แก่ เล่นโต กิ่งกะหร่า (กินนรา) หรือฟ้อนนางนำ กำเบ้อคง มองเซิง ฟ้อนไต (ไทยใหญ่) และฟ้อนเงี้ยว ฯลฯ
ฟ้อนที่ปรากฎในบทละคร การฟ้อนประเภทนี้เป็นการฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรค์ขึ้นในการแสดงละครพันทาง ซึ่งนิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนรั และฟ้อนลาวดวงเดือน ฯลฯ
ภาคใต้ การละเล่นพื้นเมือง ของภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
แบ่งตามรูปแบบการเล่น แยกออกเป็น 3 ลักษณะคือ
เพลงพื้นเมือง แบ่งตามโอกาสที่เล่นได้เป็น2 ชนิด คือ เพลงที่ใช้เล่นตามฤดูกาลหรือเทศกาล ได้แก่ เพลงเรือ เพลงลา เพลงบอก สวดมาลัย เพลงกล่อมนาค และคำตัก ฯลฯ และเพลงที่ใช้เล่นได้ทุกโอกาส ได้แก่ เพลงตันหยงหรือหล้อแหง็ง และลิเกฮูลู ฯลฯ
ระบำพื้นเมืองที่ไม่สามารถแยกประเภทได้มีหลายชนิด แต่ที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ รองเง็ง ซัมเปง ดาระ และสิละ (หรือซีละ) ฯลฯ
ละครชาวบ้านที่ไม่สามารถจำแนกออกได้ ที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ หนังตะลุง วายังเซียม มโนห์รา มะโย่ง และลิเกป่า ฯลฯ
แบ่งตามกลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม แยกเป็น 3 ลักษณะ คือ
การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยพุทธ ได้แก่ กาหลอ คำตัก เพลงกล่อมนาค เพลงเรือ เพลงนา สวดมาลัย โต๊ะครึม หนังตะลุง และมโนห์รา ฯลฯ
การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยมุสลิม ได้แก่ ลิเกฮูลู เพลงตันหยง รองเง็ง ซัมเปง ดาระ และวายังเซียม ฯลฯ
การละเล่นที่นิยมกันในกลุ่มไทยพุทธ และไทยมุสลิม ได้แก่ ลิเกป่า
ภาคอีสาน ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถแบ่งเรื่องการละเล่นพื้นเมืองได้ เป็น 2กลุ่ม คือ
กลุ่มอีสานเหนือ ซึ่งสืบทอดวัฒนธรรมมาจากกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า กลุ่มไทยลาว หรือกลุ่มหมอลำ หมอแคน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีมากที่สุดในภาคอีสาน
กลุ่มอีสานใต้ แบ่งออกได้อีก 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมเขมร - ส่วย หรือที่เรียกว่า "กลุ่มเจรียง - กันตรึม"
กลุ่มวัฒนธรรมโคราช หรือที่เรียกว่า "กลุ่มเพลงโคราช"
ถ้าพิจารณาถึงประเภทของเพลงพื้นเมืองอีสาน โดยยึดหลักเวลา และโอกาสในการขับร้องเป็นหลัก สามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ
เพลงพิธีกรรม
กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ การลำพระเวสหรือการเทศน์มหาชาติ การแหล่ต่างๆ การลำผีฟ้ารักษาคนป่วย การสวดสรภัญญะ และการสู่ขวัญในโอกาสต่างๆ ฯลฯ
กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ เรือมมม็วต เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวสุรินทร์ ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า "เรือมมม็วต" จะช่วยให้คนที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการทุเลาลงได้ ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน แต่จะต้องมีหัวหน้าหรือครูมม็วตอาวุโสทำหน้าที่เป็นผู้นำพิธีต่างๆ และเป็นผู้รำดาบไล่ฟันผีหรือเสนียดจัญไรทั้งปวง
เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน
กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ หมอลำ ซึ่งแบ่งได้ 5 ชนิด คือ หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ หมอลำเพลิน หมอลำผีฟ้า
กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ กันตรึม เจรียง เพลงโคราช
ปัจจุบันมีการแสดงชุดใหม่ที่สถาบันต่างๆของภาคอีสานแต่ละกลุ่มได้ประดิษฐ์การฟ้อนรำขึ้นใหม่ ทำให้มีผู้แบ่งศิลปะการฟ้อนทั้งชุดเก่า และชุดใหม่ที่ปรากฎอยู่ของภาคอีสานออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะออกมาในรูปของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่
การฟ้อนเลียนกิริยาอาการของสัตว์ เช่น กระโนบติงต๊อง แมงตับเต่า และกบกินเดือน ฯลฯ
การฟ้อนชุดโบราณคดี เช่น ระบำบ้านเชียง รำศรีโคตรบูรณ์ ระบำพนมรุ้ง และระบำจัมปาศรี
การฟ้อนประกอบทำนองลำนำ เช่น ฟ้อนคอนสวรรค์ รำตังหวาย เซิ้งสาละวัน และเซิ้งมหาชัย
การฟ้อนชุดชุมนุมเผ่าต่างๆภูไท 3 เผ่า คือ เผ่าไทภูพาน รวมเผ่าไทยบุรีรัมย์ และเผ่าไทยโคราช
การฟ้อนเนื่องมาจากวรรณกรรม เช่น มโนห์ราเล่นน้ำ
การฟ้อนเซ่นสรวงบูชา เช่น ฟ้อนภูไท แสกเต้นสาก โส้ทั่งบั้ง เซิ้งผีหมอ ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทดำ เรือมปัลโจล ฟ้อนแถบลาน รำบายศรี เรือมมม๊วต เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางด้ง รำดึงครกดึงสาก และเซิ้งเซียงข้อง ฯลฯ
การฟ้อนศิลปาชีพ เช่น รำตำหูกผูกขิก ฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง เรือมกลอเตียล (ระบำเสื่อ) เซิ้งสาวย้อตำสาด รำปั้นหม้อ รำเข็นฝาย เซิ้งสาวไหม รำแพรวา เซิ้งข้าวปุ้น รำบ้านประโคก เซิ้งปลาจ่อม เซิ้งแหย่ไข่มดแดง และเรือมศรีผไทสมันต์ ฯลฯ
การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เช่น เซิ้งแคน ฟ้อนชุดเล่นสาว เป่าแคน รำโปงลาง ฟ้อนกลองตุ้ม เซิ้งกะโป๋ เซิ้งทำนา เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง รำโก๋ยมือ รำกลองยาวอีสาน ระบำโคราชประยุกต์ เรือมอันเดร เรือมซันตรูจน์ เรือมตลอก (ระบำกะลา) และเรือมจับกรับ ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวมภาพการแสดงของนักเรียน